ผื่นกุหลาบหรือหลายคนรู้จักกันในชื่อขุยกุหลาบเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนซึ่งสาเหตุมาจากความอับชื้นของอากาศและการติดเชื้อไวรัสชนิดบางชนิด โรคผื่นกุหลาบถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอะไรแต่ก็สร้างความอับอายให้กับผู้ที่เป็นไม่น้อยเพราะโรคดังกล่าวจะเป็นขุยแห้งลามทั่วร่างกายส่วนต่างๆ ทำให้ไม่น่ามองจึงสร้างปมด้อยให้กับคนที่เป็นโรคนี้ โรคผื่นกุหลาบเกิดจากอะไรและมีวิธีการดูแลรักษาแบบไหนมาทำความรู้จักโรคนี้กันเลยดีกว่า
ผื่นกุหลาบ เกิดจากอะไร
โรคผื่นกุหลาบหรือ Pityriasis rosea (PR) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่เป็นอันตรายไม่ทำให้เสียชีวิตเพียงแต่สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เนื่องจากผิวหนังตามร่างกายมีการลอกเป็นขุยแห้ง คนส่วนใหญ่มักจะหายจากโรคนี้ไปเองและโรคนี้ก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ และเมื่อเป็นแล้วมักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โรคผื่นกุหลาบพบมากในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่และมักจะพบกับเพศหญิงมากกว่าเพศชายโรคนี้จะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่จะพบได้บ่อยมากในช่วงหน้าฝนซึ่งมาจากอากาศที่อับชื้น โดยสาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัดแต่น่าจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและการใช้ยาบางประเภทที่อาจจะไปกระตุ้นให้เกิดโรคผื่นกุหลาบเช่นยาในกลุ่มแอสไพริน,Bismuth, Barbiturates, Clonidine, D-penicillamine และ Barbiturates เป็นต้น
ลักษณะอาการของโรคผื่นกุหลาบ
โรคผื่นกุหลาบไม่ใช่โรคติดต่อแต่เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อไวรัสและการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นกุหลาบจะมีลักษณะอาการดังนี้
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ยังมีสุขภาพแข็งแรงปกติแต่จะมีผื่นขึ้นตามตัว ไม่มีอาการใดๆ แต่ในบางรายอาจพบว่ามีอาการไข้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหารปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วยแต่พบได้น้อยมาก
- ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นก่อนอันดับแรกก่อนจะมีผื่นจำนวนมากเกิดขึ้นตามมาด้วยในสัปดาห์ต่อมาโดยผื่นที่เกิดขึ้นแรกๆ มักมีแค่หนึ่งผื่นเท่านั้นมีรูปเป็นวงกลมหรือรูปไข่ตรงกลางจะมีผิวเนื้อที่ย่นมีสีชมพูหรือสีส้มคล้ายๆ กับเนื้อปลาแซลม่อนบริเวณผื่นจะเป็นสีแดงเข้มเห็นได้ชัดเจน มักเกิดขึ้นบริเวณที่หน้าอกและต้นคอและจะพบตามส่วนต่างๆ ของร่างกายตามมา
- ต่อมาอีกประมาณ 1 – 2 สัปดาห์จะมีผื่นที่เรียกว่า ทุติยภูมิแต่มีขนาดเล็กกว่าค่อยๆ ขึ้นมาตามโดยจะขึ้นหมดในช่วง 2 สัปดาห์แรกและจะอยู่ประมาณ 4 – 6 สัปดาห์จากนั้นจะค่อยๆ หายไปเอง
- ผู้ป่วยบางรายผื่นจะอยู่นานถึง 3 – 4 เดือนเลยก็มีทำให้หลายคนนิยมเรียกผื่นกุหลาบว่า “ผื่นร้อยวัน” เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองประมาณ 3 – 4 เดือนหรือประมาณ 100 วันนั่นเอง
การดูแลรักษาเมื่อเป็นโรคนี้
โรคผื่นกุหลาบเป็นโรคที่ผู้ป่วยสามารถหายได้เองและไม่มียารักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงต้องรักษาตามอาการไปจนกว่าจะหายเป็นปกติสำหรับผู้ป่วยโรคนี้สามารถดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้นตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำที่ร้อนจัด เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้ผื่นเกิดเห่อขึ้นมาอีก
- ออกมาตากแดดรับแสงอาทิตย์ในช่วงเวลา 10 – 14.00 ทุกวันครั้งละประมาณ 3 – 5 นาทีเนื่องจากว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะมีรังสียูวีบีเป็นจำนวนมากซึ่งจะช่วยในการรักษาโรคผื่นกุหลาบได้ดี
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นหรือทำให้ผิวหนังเกิดการกำเริบเช่น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเพราะจะทำให้มีเหงื่อออก เลี่ยงการโดนน้ำ หรือสัมผัสสบู่หอม ควรใช้สบู่ที่อ่อนโยนเช่นสบู่เหลวของเด็กในช่วงนี้ไปก่อน
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นกุหลาบสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเพราะไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถกินดื่มหรือหายใจร่วมกับคนอื่นได้ไม่จำเป็นจะต้องแยกจากผู้อื่นหรือหยุดเรียนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแม้ว่าจะมีผื่นขึ้นเต็มตามตัวก็ตาม
- ในผู้ป่วยที่เป็นไม่มากเช่นมีอาการคันเพียงแค่เล็กน้อยไม่จำเป็นจะต้องใช้ยารักษารอให้ผื่นหายไปเองซึ่งอาจจะใช้เวลา 4 – 6 สัปดาห์
วิธีการป้องกันผื่นกุหลาบ
โรคผื่นกุหลาบเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาและวิธีป้องกันที่ชัดเจนแต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำอีกน้อยมากเนื่องจากว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเคยเป็นแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาและคุ้มกันไว้ถาวรทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นกุหลาบจะไม่กลับไปเป็นโรคนี้ซ้ำอีก แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับไปเป็นซ้ำอีกได้แต่ก็มีเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ในปัจจุบันยังไม่มียาและวิธีรักษาผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงต้องดูแลตัวเองรักษาตามอาการไปและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดไม่นานโรคนี้ก็จะหายไปเอง และโรคผื่นกุหลาบไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่ควรไปรังเกียจผู้ที่ป่วยโรคนี้