ต้นไผ่ ไม้สารพัดประโยชน์ที่ให้ทั้งร่มเงา อาหารและที่อยู่อาศัย เติบโตง่าย ให้ออกซิเจนมากกว่าพืชอื่น ๆ ถึง 35% ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้มากถึง 5 เท่า นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ที่น่าสนใจอีกมากมายดังนี้
1. สร้างที่อยู่อาศัย
ด้วยลำต้นที่ใหญ่ เนื้อไม้หนา แข็งแรง มีความทนทานและสามารถรับน้ำหนักได้มาก นิยมนำมาใช้ทำโครงเสา หลังคา พื้นและผนัง โดยอาจใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ หรือผ่าครึ่ง ผ่าซีกนำมาดัดแปลงตามความต้องการ
2. เครื่องจักสาน
สมัยโบราณการทำเครื่องจักสานมักใช้ไผ่มาทำการผ่าครึ่ง และผ่าเป็นซีก ๆ ให้มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน แล้วนำมาใช้สานเป็นตะกร้า กล่องใส่ของ หรือกระจาด กระเป๋า หรือทำเป็นหมวก เพื่อใช้สวมใส่ นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในการสานเพื่อใส่อาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ปลา เป็นต้น
3. ผลิตกระดาษ
การผลิตกระดาษในยุคโบราณ มีการริเริ่มการทำกระดาษจากไม้ไผ่ ซึ่งผู้คนพบเทคนิคนี้คือ ชาวจีน โดยการใช้ไผ่ป่าหรือไผ่หนาม และไผ่ซางมาใช้ทำกระดาษ
4. ปลูกเป็นแนวรั้ว
ไผ่รวกและไผ่เลี้ยง นิยมนำมาปลูกเพื่อใช้เป็นแนวรั้วและป้องกันลม นอกจากนี้ไผ่ที่มีหนามแหลมคม เช่น ไผ่หนาม ก็ได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นรั้วกันขโมย หรือใช้ป้องกันสัตว์ป่าที่อาจเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้แก่บ้านเรือนได้
5. ทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือน
การทำเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เช่น เก้าอี้ ชั้นวางของ เตียง ตู้ โต๊ะ นิยมใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดลำต้นใหญ่ตรง และแข็งแรง ทั้งนี้เมื่อนำมาใช้ทำเครื่องเรือน ควรเลือกสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสม และควรเคลือบด้วยน้ำยาเพื่อป้องกันปลวก มอดและแมลงต่าง ๆ มาทำลาย
6. หน่อไม้ทำอาหาร
หน่อของไผ่บางชนิดสามารถนำมาใช้ทำอาหาร เช่น แกงหน่อไม้หรือซุปหน่อไม้ การนำมารับประทานควรทำให้สุก เพื่อเป็นการลดสารไซยาไนด์ โดยการนำมาต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที และเทน้ำทิ้งจะสามารถช่วยลดปริมาณสารไซยาไนด์ได้ถึง 90.5 เปอร์เซ็นต์
และทั้ง 6 ข้อนี้คือประโยชน์ของต้นไผ่เบื้องต้นที่นำมาฝากกัน ซึ่งไผ่สามารถนำมาใช้งานได้ตั้งแต่ ราก ใบ ลำต้นและหน่อไผ่ ทั้งนี้ก่อนนำมาใช้งานควรศึกษารายละเอียดของสายพันธุ์และส่วนที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานจากต้นไผ่